พระประวัติ ของ สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร

พระชนม์ชีพตอนต้น

สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ฉลองพระองค์อย่างชาวตะวันตกตั้งแต่ทรงพระเยาว์สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ในพระราชพิธีโสกันต์

สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร เป็นพระราชธิดาลำดับที่ 48 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2427 ณ พระตำหนักสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา บรมราชเทวีในพระบรมมหาราชวัง พระองค์เป็นพระราชบุตรร่วมพระชนกชนนีลำดับที่ห้า จากพี่น้องทั้งหมดแปดพระองค์คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร,[1] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์,[2] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา อดุลยาดิเรกรัตน ขัตติยราชกุมารี,[3] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์,[4] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี,[5] สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก[6] และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิง (ไม่มีพระนาม)[7]

เมื่อพระชนม์ครบหนึ่งเดือนได้มีพระราชพิธีสมโภชเดือน ณ พระตำหนักสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา บรมราชเทวี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารี เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2427[8] ชาววังออกพระนามว่า ทูลกระหม่อมฟ้าหญิง[9] หรือ ทูลกระหม่อมวไลย[10] บ้างก็ออกพระนามว่า ทูลกระหม่อมหญิงแหม่ม เนื่องจากทรงไว้พระเกศายาวประบ่าตั้งแต่ทรงพระเยาว์ กับมีพระพักตร์คล้ายกับชาวตะวันตก และโปรดฉลองพระองค์อย่างสตรีตะวันตก[11] แต่พระองค์จะลงพระอภิไธยว่า วลัย[10] จากการที่สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีทรงสูญเสียพระราชธิดาทั้งสองพระองค์ใน พ.ศ. 2430 พระองค์ทรงปรารภจะมีพระราชธิดา จึงทรงขอประทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารีจากสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีให้เป็นพระราชธิดาในปลายปี พ.ศ. 2431 โดยมีจันทร์ ชูโต เป็นพระพี่เลี้ยง[12] พระองค์จึงเรียกสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีว่า "เสด็จแม่"[13] และเรียกสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีว่า "สมเด็จป้า"[14] พระองค์ประทับที่พระที่นั่งสุทธาศรีอภิรมย์ร่วมกับสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีโดยแบ่งครึ่งห้องพระบรรทม[15]

เบื้องต้นทรงได้รับการศึกษาจากโรงเรียนราชกุมารีที่ตั้งอยู่ในพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2436 โดยมีพระอิศรพันธ์โสภณเป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษร ส่วนวิชาภาษาอังกฤษมีพระอาจารย์ถวายการสอนคือ หม่อมเจ้ามัณฑารพ กมลาศน์, หม่อมเจ้าพิจิตรจิราภา เทวกุล, หม่อมจันทร์ เทวกุล ณ อยุธยา และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์[12] ทั้งนี้พระองค์ได้รับการกวดขันจากสมเด็จพระบรมราชินีนาถอย่างสมัยใหม่ทั้งการศึกษา, การแต่งกาย, แนวคิด และการปฏิบัติพระองค์[13] เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารี มีพระชนม์ 12 พระชันษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีโสกันต์ พระราชทานพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระนาม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารี[16]

ต่อมาในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้การสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารี กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร[17] ในรัชกาลนี้ พระองค์ได้รับพระราชทานพระยศทางทหาร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานตำแหน่งผู้บังคับการพิเศษกรมทหารม้าที่สอง มีพระยศเป็นนายพันเอก ซึ่งเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์เองก็เคยรับสั่งกับเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตว่า เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ให้จัดงานแบบทหารด้วย โดยรับสั่งว่า "ฉันเป็นทหาร"[12]

และท้ายที่สุดในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระองค์ได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพ็ชร์บุรีราชสิรินธร[18]

สิ้นพระชนม์

(จากซ้ายไปขวา) สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ฉายร่วมกับพระชนนีและพระอนุชา

เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ เป็นพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีที่ยังทรงพระชนม์ แต่พระองค์ก็มีพระโรคประจำพระองค์คือพระวักกะพิการเรื้อรัง (ไตพิการเรื้อรัง) เคยเสด็จไปทรงรับการผ่าตัดที่ต่างประเทศถึง 2 ครั้ง และมีพระดำริจะเสด็จไปสิ้นพระชนม์ที่ต่างประเทศเสีย เพื่อมิให้พระชนนีต้องวิตกกังวลหรือยุ่งยากพระทัย แต่พระองค์ได้เสด็จกลับประเทศสยามเพราะทรงทราบข่าวการประชวรของพระชนนี และพระอาการของพระองค์กลับกำเริบขึ้น[19] จนวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 (แบบสากลคือ พ.ศ. 2482) มีพระอาการหนักมากจนน่าวิตก[12]

พระองค์สิ้นพระชนม์ที่วังคันธวาส ถนนวิทยุ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 (แบบสากลคือ พ.ศ. 2482) เวลา 23.15 นาฬิกา ด้วยพระอาการสงบ สิริพระชันษา 54 ปี ท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพารตลอดจนผู้ใกล้ชิด นับเป็นพระราชธิดาองค์สุดท้ายของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีที่สิ้นพระชนม์[19] ในการนี้สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี เสด็จไปงานพระราชทานเพลิงพระศพด้วยพระองค์เอง ซึ่งก่อนหน้านี้สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ ไม่เคยเสด็จไปงานพระราชทานเพลิงพระศพพระราชโอรสธิดาพระองค์ใด เนื่องจากคติโบราณที่ห้ามบิดามารดาเผาศพบุตร มิฉะนั้นต้องเผาอีก แต่ครั้งนี้เป็นพระราชธิดาองค์ท้ายสุด พระองค์จึงได้เสด็จมา และมีพระดำรัสที่มีนัยยะความชอกช้ำพระทัย และประชดประชันในพระชะตาชีวิตว่า "...อ๋อ ไปส่งให้หมด พอกันที ไม่เคยไปเลยจนคนเดียว คนนี้ต้องไปหมดกันที"[19] พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ณ ท้องสนามหลวง[20][21]

หลังการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้พระราชทานวังคันธวาสให้กับโรงเรียนราชินีบน เพื่อเก็บผลประโยชน์เป็นรายได้บำรุงโรงเรียน [22] ปัจจุบันพื้นที่ของวังคันธวาสได้กลายเป็นที่ตั้งของโรงแรมพลาซ่า แอทธินี รอยัล เมอริเดียน[23]

แหล่งที่มา

WikiPedia: สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร http://lib.vru.ac.th/menu_lib02/data_queen/mlib02_... http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetailsql.asp... http://mail.rajinibon.ac.th/one_8.html?name=News&f... http://www.rajini.ac.th/school/history.html http://www.bmp.ac.th/ictben/index.php?option=com_c... http://www.rajinibon.ac.th/index.php?option=com_co... https://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Valaya... https://vajirayana.org/%E0%B8%88%E0%B8%94%E0%B8%AB... https://web.archive.org/web/20090716222311/http://... http://lib.vru.ac.th/menu_lib02/data_queen/mlib02_...